ตัวอย่างในการใช้งาน


ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงขององการธุรกิจต่างๆ รวมถึงวิธีชีวิตแบบใหม่ๆของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไป  เมื่อมีมือถือที่ฝังชิป NFC อยู่ใกล้ๆตัว
Micropayment l ใช้เงินโดยไม่จับเงิน

เมื่อมีชิป NFC ติดในมือถือ เราสามารถเปลี่ยนมือถือให้กลายเป็นกระเป๋าสตางค์เงินสด หรือแม้แต่แทนบัตรเครดิตได้ แต่อย่างไรก็ดีการจ่ายเงินโดยผ่านชิป NFC ของมือถือนี้มักจะมีข้อกำหนดด้านเพดานการใช้จ่ายเงินแต่ละครั้ง (ซึ่งไม่ควรจะเกิน 3,000 บาท) เพื่อป้องกันในกรณีมือถือหายแล้วผู้อื่นเอาเงินไปใช้ ซึ่งเพดานเงินนี้ธนาคาร และผู้ใช้สามารถกำหนดเองได้
ลักษณะการทำงานก็เหมือนที่เราเอากระเป๋าสตางค์ที่ใส่การ์ดที่ฝังชิป RFID ทั้งหลาย เช่น บัตรรถไฟฟ้า บัตร 7-11 มาแตะที่เครื่องอ่านบัตร แต่ครั้งนี้ใช้แค่มือถือเครื่องเดียวเอาอยู่!
นอกจากนี้แล้วทางธนาคารยังสามารถทำระบบโอนเงินระหว่างกันได้อีกด้วย แค่เอามือถือ 2 เครื่องมาแตะกัน
สิ่งสำคัญที่สุดที่นอกเหนือไปจากความสะดวกสบายของผู้บริโภคแล้ว ธนาคาร และร้านค้าที่คุณจ่ายเงินด้วยมือถือ จะสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละคนได้แบบเรียลไทม์ และนำไปสู่การให้ผลตอบแทนในการใช้จ่ายแต่ละครั้งได้ทันทีอีกด้วย

กรณีศึกษาการใช้ NFC กับธุรกิจร้านอาหาร
EnableTable แค่คุณแตะมือถือเข้ากับแฟ้มใส่สลิปเงิน (ซึ่งมีการฝังชิป NFC เอาไว้) ทางร้านก็จะทราบได้ทันทีว่าคุณมาทานอาหารจนครบยอดแล้ว จากนั้นก็จะแตะมือถือเข้ากับเครื่องอ่านของทางร้าน เพื่อส่งคูปองส่วนลดดิจิตอลให้คุณทันที เพื่อสิทธิพิเศษในการเข้ารับประทานอาหารครั้งต่อไป และครั้งหน้าเมื่อทานเสร็จ แตะมือถือ ก็จะได้รับส่วนลดทันที ดูวิดีโอสาธิตการทำงานของ EnableTable 

นามบัตรไฮเทค
การร่วมวงธุรกิจ การรู้หน้าอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้ใจ และไลฟ์สไตล์ของคู่ค้าให้มากที่สุด ดังนั้นจะดีแค่ไหนที่นามบัตรของคุณที่ติดชิป NFC เอาไว้ จะเป็นหน้าต่างบานสำคัญให้พาร์ทเนอร์ของคุณรู้จักคุณทุกมุมมอง ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงโพสต่างๆ ที่คุณพูดคุยผ่านทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ก การเข้าไปดูไฟล์ Resume ของคุณแบบออนไลน์ ฯลฯ ทั้งยังไม่เปลืองค่าพิมพ์นามบัตรซ้ำๆ อีกด้วย เพราะเวลาใช้แต่เอานามบัตรไปแตะมือถือของลูกค้าเท่านั้น

กรณีศึกษาการใช้ NFC กับการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ บนมือถือ
           Taglet บริษัทจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตป้าย หรือแผ่นพลาสติกที่ฝังชิป NFC เอาไว้ เพื่อใช้ในแต่ละโอกาส เช่น แตะแล้วเข้าไปดูคลิปวิดีโอ เข้าไปยังหน้าเพจทวิตเตอร์ของแต่ละคนเป็นต้น 



ตั๋วอัจฉริยะที่ไม่ใช่แค่กระดาษ
ถ้าไม่ใช่เพราะคุณกุมมือดูหนังกับคนพิเศษ ไม่มีใครเลยที่คิดจะเก็บตั๋วหนังเอาไว้เกิน 3 นาที และตั๋วเหล่านี้ยังรวมถึง ตั๋วรถเมล์ ตั๋วคอนเสิร์ต ฯลฯ แต่หลังจากมี NFC ในมือถือ ตั๋วเหล่านั้นจะถูกแปรสภาพเป็นรหัสไบนารี่โค้ด 0100010 เพื่อแทนที่ตั๋วกระดาษ

กรณีศึกษาการใช้ NFC แทนที่ตั๋วต่างๆ
เมื่อใดที่คุณออกจากโรงภาพยนตร์ ก็เพียงนำมือถือแตะที่เครื่องเพื่อตอบแบบสอบถามก็สามารถลุ้นรางวัลใหญ่จากโรงหนัง หรือดูตัวอย่างหนังที่กำลังจะเข้าโรงได้ ส่วนในกรณีที่เป็นงานคอนเสิร์ต คุณสามารถดูตำแหน่งที่นั่งของคุณได้จากมือถือทันทีที่เดินผ่านประตู ส่วนเมื่อแตะมือถือแทนค่าตั๋วรถเมล์ ก็จะเปิดแอปพลิคชันให้คุณทราบตำแหน่งเส้นทางของรถ และสามารถเตือนเมื่อใกล้ถึงจุดหมายได้



ป้ายโฆษณาอินเตอร์แอคทีฟ หวังผลจริง วัดผลได้
ฟังมาทั้งหมดวงการที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตื่นเต้นที่สุดเห็นจะไม่พ้นวงการโฆษณา ที่เมื่อก้าวมาถึงยุค สื่อใหม่ (New Media)” แล้ว การตลาดบนมือถือ (Mobile Marketing)” ดูเหมือนจะเป็นกิมมิกที่มาแรงเอามากๆ และ NFC ก็ทำให้ทั้งแบรนด์ และกลุ่มเป้าหมายมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ การทราบผลอย่างแม่นยำแบบเรียลไทม์อีกด้วย


กรณีศึกษาการใช้ NFC ในการทำโฆษณาบนมือถือ
เมื่อใดที่แตะมือถือเข้ากับโปสเตอร์ หรือป้ายไฟโฆษณาที่เดินผ่าน คุณก็สามารถจะได้รับทราบข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ รวมถึงการร่วมสนุกกับกิจกรรมการตลาด รวมถึงการได้คูปองเพื่อนำไปแลกสินค้าตัวอย่างได้อีกด้วย เทคนิคนี้เรียกว่า “Proximity Marketing” ซึ่งทำให้แบรนด์ที่ลงโฆษณาสามารถทราบฟีดแบคจากลูกค้าได้ทันที ไม่ต้องเสียงบมาทำแบบสำรวจอีกครั้ง

4 ตัวอย่างกรณีศึกษาข้างต้นล้วนบอกแต่ข้อดีของการใช้มือถือที่ฝังชิป NFC แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ผู้ร่วมพัฒนาระบบจะต้องจัดการและสร้างมาตรฐานกลางก่อนที่จะเผยแพร่ไลฟสไตล์ไฮเทคนี้สู่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น
·         การเข้าระบบอย่างแน่นหนาในการโอนจ่ายเงิน หรือการรับ-ส่งข้อมูลต่างๆ ระหว่างมือถือกับเครื่องอ่าน
·         การกำหนดวงเงินในการจ่ายเงินผ่านมือถือแต่ละครั้ง ค่าธรรมเนียมการโอน และเติมเงินเข้ามือถือ หรือในกรณีที่ต้องการจ่ายเงินเกินวงเงิน จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์อื่นใช้ส่งรหัสยืนยันตัวตน เพื่ออนุญาตให้ดำเนินการโอนเงินได้
·         การเก็บประวัติการใช้งานการทำธุรกรรมของลูกค้าแต่ละรายไว้ในระบบที่มีการเข้ารหัสเอาไว้ แต่ก็ยังสามารถเข้าถึงเป็นรายบุคคลตราบเท่าที่ผู้ใช้อนุญาต
·         การร่าง หรือปรับประมวลกฎหมายที่ครอบคลุมถึงการลักลอบสแกนรหัส ไปจนถึง จำนวนตัวเลขขั้นต่ำของวงเงินที่หายไป (เมื่อมือถือหาย) เพื่อที่จะนำมาสู่การฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมาย (ในต่างประเทศ ต้องมากกว่า 1,500 บาท)

ถึงตอนนี้ เมื่อมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เมืองไทยแล้ว ผู้เขียนเล็งเห็นว่าอัตราการเติบโตของการใช้มือถือฝังชิป NFC นั้นจะผกพันไปตามการได้รับความนิยมในเครื่องสมาร์ทโฟนนั้นๆ เป็นหลัก นอกจากนี้ผู้เล่นต่างๆ ในเมืองไทยก็เหมือนจะพร้อมรับมือกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นหลายบริษัทในเครือทรู อย่าง ทรูมันนี่ 7-11 รวมถึงค่ายมือถือ และธนาคารที่ออกระบบการชำระเงินผ่านมือถือมามากมายก่อนหน้านี้ อาทิ กสิกร เอไอเอส ฯลฯ
ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับ ผู้บริโภค แล้วว่าจะยอมเปิดใจรับไลฟ์สไตล์ใหม่ที่ให้คุณสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นกับมือถือเครื่องโปรดของตนหรือไม่? หากอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าสามารถกำหนดวงเงินการใช้จ่ายผ่านมือถือได้ตลอด และรู้จักบริหารงบดุลในกระเป๋าได้ดี อนาคตของมือถือ NFC ในไทยก็จะสดใสอย่างแน่นอน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น